top of page

เส้นทางราชมรรคา

        เส้นทางสายราชมรรคาทั้ง 5 สายที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 แผ่ขยายออกไปทุกทิศทางจาก "นครธม" หรือ "เมืองพระนคร" เป็นเส้นทางสายสำคัญดังนี้

  1. จากเมืองพระนคร - ปราสาทพิมาย  ประเทศไทย

  2. จากพระนคร - ปราสาทวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

  3. จากพระนคร - สวายจิก

  4. จากพระนคร - ปราสาทพระขรรค์  กำปงสวาย

  5. จากพระนคร – กำปงธม

 

         ถนนราชดำเนิน เส้นทางเผยแผ่อารยะธรรมเขมรโบราณ ถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “เส้นทางราชมรรคา” ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ศาสนสถานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอุทิศให้พระราชบิดาภายในเมืองนครธม ความจากจารึกตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้าง

“ธรรมศาลา” หรือ “ที่พักคนเดินทาง” และ “อโรคยาศาลา” ตามเส้นทางจากนครธมไปยังเมืองต่างๆรอบพระราชอาณาจักร หนึ่งในเส้นทางนั้นคือเมืองพิมายในประเทศไทย นับเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงถึงพระราชอำนาจอันเกรียงไกรในยุคสมัยที่ขอมเรืองอำนาจแผ่ขยาย

         จากจารึกปราสาทพระขรรค์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง” หรือ “บ้านซึ่งมีไฟ” ซึ่งก่อด้วยศิลาและจุดไฟไว้ตลอด

         เส้นทางราชมรรคาสายเหนือ เริ่มต้นจากเมืองพระนครธม ขึ้นมาที่จุดตัดของลำน้ำหลายสาย ที่มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาพนมดงรักก่อนไหลลงโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) ผ่านที่ราบกว้างใหญ่ เข้าสู่ช่องจอม มีร่องรอยของธรรมศาลาตามเส้นทางอยู่จำนวน 9 แห่ง สำรวจพบชัดเจนเพียง 6 แห่ง เท่านั้น

เส้นทางราชมรรคาในประเทศไทย เริ่มต้นจากช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีธรรมศาลา "ตาเมือน" เป็นธรรมศาลาแรก เดินทางขึ้นเหนือไปสิ้นสุดที่เมือง วิมายุประ หรือปราสาทหินพิมาย มีการค้นพบธรรมศาลา ที่น่าจะตั้งอยู่ตามเส้นทางหลวงนี้ในประเทศไทยทั้งหมด 9 แห่ง จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุว่า “ธรรมศาลา” จะสร้างอยู่ตามเส้นทางสายราชมรรคทั้งหมด

         จารึกยังระบุว่า มี “บ้านมีไฟ” จากเมืองพระนครไปยังจามปาจำนวน 57 หลัง ถนนจากเมืองพระนครไปยังเมืองวิมายะปุระ จำนวน 17 หลัง บนถนนที่มีเส้นทางไปยังเมืองต่างๆ อีก 44 หลัง แต่ละหลังสร้างห่างกันประมาณ 12 - 15 กิโลเมตร

bottom of page