Kuti Ruesi
Ban Khok Meaung
กุฏิฤๅษีบ้านโคกเมือง
กุฏิฤๅษีบ้านโคกเมือง เป็นปราสาทหินขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 25 เพื่อเป็นอโรคยาศาลสำหรับผู้ที่เดินทางมาประกอบพิธีกรรมที่ปราสาทเมืองต่ำ และเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากปราสาทเมืองต่ำ บางคนจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กุฏิฤๅษีเมืองต่ำ และมีข้อสันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้อาจได้รับการปรับปรุงอีกครั้งเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบชิ้นงานสถาปัตยกรรมที่ไม่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมชิ้นอื่น
กุฏิฤๅษีบ้านโคกเมือง จะประกอบด้วย ปรางค์ศิลาแลง ซึ่งบางตอนมีหินทรายประกอบกรอบประตูหินทราย ด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกมา ประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก และบรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมทำด้วยศิลาแลง ซึ่งมีประตู 2 ชั้น ไม่มีหน้าต่าง อยู่ภายในวงล้อมของกำแพงแก้วมีส่วนประดับเป็นทับหลัง กำแพงทำด้วยหินรูปนาค รูปมกรคายนาค และกลีบบัวต่างๆ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ส่วนประกอบเหล่านี้ดูไม่ต่อเนื่องกับปรางค์และกำแพงแก้ว จึงอาจเป็นการนำของเดิมมาประกอบอาคารที่ก่อสร้างใหม่
กุฏิแห่งนี้มีแผนผังคล้ายอโรคยาศาลในพุทธศาสนามหายาน ซึ่งนิยมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตาม หากชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นของที่มีมาแต่เดิม ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า เคยมีศาสนสถานแห่งหนึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 จึงปรับแปลงให้เป็นอโรคยาศาลในพุทธศาสนา
ปัจจุบันได้รับการบูรณะและขุดแต่งให้มีความสมบูรณ์แล้ว ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ครอบคลุมเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา
กุฏิฤๅษีบ้านโคกเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้ง เลยกุฏิฤๅษีหนองบัวราย ก่อนจะถึงปราสาทเมืองต่ำ โดยมีบาราย หรือสระน้ำขนาดใหญ่ที่ได้รับการขุดแต่ง อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเรียกว่า ทะเลเมืองต่ำ หรือ บารายของปราสาทเมืองต่ำนั่นเอง และจะเห็นว่า ศาสนสถานประจำอโรคยาศาลทั้งสองแห่งนี้อยู่ใกล้กัน และที่ได้ชื่อว่ากุฏิฤาษี เพราะเชื่อว่าน่าจะมีพราหมณ์หรือผู้ทรงศีลมาอาศัยดูแลอยู่ก่อน อีกทั้ง เชื่อว่าน่าจะอยู่ในเส้นทางราชมรรคา เพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีศาสนสถานขอมกระจายกันอยู่ในบริเวณนี้หลายแห่ง และปราสาทขอมที่อยู่บนยอดเขา ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมขอมโบราณ หรืออาณาจักรพนมโรงนั่นเอง ดังนั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงโปรดให้สร้างอโรคยาศาลขึ้นไว้ใกล้กันในบริเวณนี้ เนื่องจากว่า คงจะมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง คือ กุฏิฤๅษีหนองบัวรายและกุฏิฤๅษีบ้านโคกเมืองนี้เอง