ปราสาทหินเมืองต่ำ
Prasat Hin Muang Tum
ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานหรือโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง ที่มีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านศิลปกรรมแบบขอมที่น่าสนใจได้จัดเป็นปราสาทขอมที่ทรงคุณค่าทางโบราณคดีและศิลปกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ชื่อปราสาทเมืองต่ำสันนิษฐานว่าเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ และสันนิษฐานว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนแห่งใหญ่ในสมัยก่อนและเป็นช่วงที่อารยธรรมอินเดียทั้งพุทธและฮินดู ได้เข้ามาฝังรากอย่างมั่นคงอยู่ในแถบนี้ ปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนและคลัง มีการวางแผนผังปราสาทได้สัดส่วนลงตัว
โบราณสถานปราสาทเมืองต่ำประกอบด้วย กำแพงแก้ว โคปุระนอก โคปุระใน สระน้ำ ระเบียงคด บรรณาลัย และกลุ่มปรางค์ประธาน 5 องค์
กลุ่มปรางค์ประธานปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทอิฐห้าองค์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดสร้างอยู่ตรงกลางแผนผังโดยใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานและประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้า ประกอบด้วยปราสาทอิฐห้างองค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน องค์สารทก่อด้วยอิฐเรียงกันเป็นสองแถว แถวหน้าสามองค์ และแถวหลังสององค์
ระเบียงคดและซุ้มประตู(โคปุระ) มีลักษณะเป็นห้องยาว ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่อด้วยหินทราย ปูพื้นด้วยศิลาแลง ผนังระเบียงคดทั้งด้านนอกและด้านในมีช่องหน้าต่างเป็นระยะ ผนังด้านในเป็นหน้าต่างโล่ง ส่วนด้านผนังด้านนอกมีลูกกรงทำด้วยหินทราย เรียกว่า ลูกมะหวด ช่องละ 7 ต้น
ระเบียงคด ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้มีซุ้มประตู หรือ โคปุระขนาดใหญ่ ก่อด้วยหินทรายอยู่ตรงกลางประกอบด้วยฐาน ตัวอาคาร และชั้นหลังคา ภายในมีห้องโถงมีมุขออกเป็นทางเข้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้าง ชักปีกออกเป็นห้องแคบๆเชื่อมต่อกับระเบียงคด ภายในแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องตรงกลางมีประตูทางเข้า-ออก ห้องด้านข้างมีหน้าต่างหลอก ปิดทึบด้วยหินทรายและประดับด้วยลูกมะหวด ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกซุ้มประตูก่อด้วยอิฐมีขนาดเล็กกว่าซุ้มประตูทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา
สำหรับหลังคาของระเบียงคดอาจใช้อิฐปาดมุม ก่อเรียงซ้อนให้เหลื่อมกัน สันหลังคาประดับด้วยบราลีหินทราย ทรงพุ่มยอดแหลม
ส่วนบริเวณซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน จากการขุดแต่งทางโบราณคดีไม่พบอิฐปาดมุมหรือกระเปื้องดินเผา หรือแม้แต่หินทรายที่มีลักษณะจะนำไปใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาโคปุระได้เลย ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า บริเวณซุ้มประตูคงใช้ไม้มุงหลังคา ทั้งนี้เพราะบริเวณด้านข้างของซุ้มประตูมีร่องรอยเครื่องบนทำด้วยไม้ แต่เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่ผุพังง่ายจนไม่เหลือหลักฐานปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ในส่วนของหน้าบัน ทับหลัง เสาประดับผนังของซุ้มประตูที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ มีการจำหลักลวดลายและเรื่องราวต่างๆ ตามคติศาสนาไว้
กำแพงแก้ว เป็นกำแพงด้านนอกที่ล้อมรอบบริเวณของปราสาท เป็นกำแพงที่ก่อขึ้นด้วยศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ขอบบนกำแพงหนาขนาด 1 เมตร ส่วนของกำแพงหนาประมาณ 67 เซนติเมตร บนสันของกำแพงเซาะเป็นร่อง
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ถัดจากกำแพงศิลาแลงเข้ามา เป็นสระน้ำรูปตัวแอล 4 สระ ล้อมรอบระเบียงคดภายในเอาไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยเว้ยเป็นช่องถนนเชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูกำแพงด้านนอกทั้ง4 ตรงมายังซุ้มประตูระเบียงคดทั้ง4 เช่นกัน